สิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการหัดใช้ลีนุกซ์คือคุณต้องใช้ editor ในโหมดเท็กซ์หรือคอนโซล ให้เป็นอย่างน้อยหนึ่งตัว เพื่อใช้แก้ไขข้อความในไฟล์ต่างๆ
editor ตัวที่แนะนำมากที่สุดก็คือ vi ซึ่งแทบจะติดตั้งเป็นดีฟอลต์ของทุกลีนุกซ์หรือยูนิกซ์ (UNIX) ทุกตระกูล
แต่ถ้าไม่ถนัดจริงๆ ก็ยังมีอีกหนึ่งโปรแกรมที่ใช้งานง่ายมาก ก็คือ nano ลองมาดูวิธีการใช้กัน
ลีนุกซ์บางตัว ไม่ได้ติดตั้งโปรแกรม nano มาโดยดีฟอลต์ ต้องติดตั้งเพิ่มเติมเอง
ตัวอย่างการใช้ yum ติดตั้ง nano บน CentOS 7
[root@cent7 ~]# yum install nano
หลังติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถใช้งาน nano ได้
พิมพ์คำสั่ง nano ตามด้วยชื่อไฟล์ที่ต้องการแก้ไข
[alice@cent7 ~]$ nano test.txt
ใน nano คุณสามารถพิมพ์ข้อความที่ต้องการแก้ไขได้เลย แล้วใช้ปุ่มเคอร์เซอร์ (cursor) เพื่อเลื่อนจุดไปตามที่ต่างๆ ที่ต้องการแก้ไข เหมือนกับ editor ทั่วๆ ไป
สังเกตด้านล่างจะมีปุ่มคีย์คำสั่งเพื่อให้ nano ทำงานในโหมดต่างๆ
เครื่องหมาย ^ คือให้กดปุ่ม [Ctrl] ค้างไว้แล้วตามด้วยตัวอักษรที่ติดกัน
เช่น ^X Exit ใช้สำหรับออกจากโปรแกรม หากต้องการออกจากโปรแกรมก็กดปุ่ม [Ctrl]+[x]
การออกจากโปรแกรม หากมีการแก้ไขข้อความในไฟล์ จะมีข้อความขึ้นถาม
Save modified buffer (ANSWERING "No" WILL DESTROY CHANGES) ?
ยืนยันการแก้ไข ก็พิมพ์ y แล้วกดปุ่ม [Enter] ไป
ถัดจากนั้นจะมีข้อความขึ้นถามชื่อไฟล์ที่ต้องการจะบันทึก
File Name to Write: test.txt
ถ้าใช้ชื่อไฟล์เดิม ก็กดปุ่ม [Enter] ไปได้เลย
ตัวอย่างไฟล์หลังการแก้ไข
[alice@cent7 ~]$ cat test.txt using nano to edit file ทดสอบการใช้ nano เพื่อแก้ไขไฟล์
ที่จริงถ้าใช้ปุ่มคีย์คำสั่งต่างๆ ของ nano ได้คล่อง คุณก็สามารถใช้งาน nano เป็น editor หลักในการทำงานได้เลย เพียงแต่ปัญหาเวลาคุณต้องเข้าไปใช้งานลีนุกซ์เครื่องอื่นๆ ที่เจ้าของเขาเครื่องไม่ได้ติดตั้งและไม่ยอมติดตั้ง nano ไว้ด้วย คุณก็ไม่มีทางเลือก นอกจากจำเป็นต้องกลับไปใช้ vi เหมือนเดิม
ปล. แนะนำให้คลิกเข้าไปดูเว็บไซต์ของ nano ครับ ออกแบบได้ nano มาก ^O^